จะมีส่วนประกอบหลักๆดังนี้
ข่วงบ้าน
ข่วงบ้าน ลักษณะเป็นลานดินกวาดเรียบกว้างเป็นลานอเนกประสงค์ ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนเล่นของเด็ก ลานตากพืชผลทางการเกษตร เป็นลานที่เชื่อมเส้นทางสัญจรหรือทางเดินเท้าให้เข้าสู่ตัวอาคาร และกระจายไปสู่ลานในบ้านข้างเคียงและถนนหลัก
บันไดและเสาแหล่งหมา
ตัวบันไดเรือนจะหลบอยู่ใต้ชายคาบ้านด้านซ้ายมือเสมอ จึงต้องมีเสาลอยรับโครงสร้างหลังคาด้านบนตั้งลอยอยู่ แต่โดยทั่วไปเรือนไม้มักจะยื่นโครงสร้างออกมาอีกส่วนหนึ่งโดยทำเป็นชายคาคลุมบันไดหรือเป็นโครงสร้างลอยตัว ส่วนเรือนแฝดประเภทมีชานเปิดหน้าเรือน ไม่หลบบันไดเข้าชายคา แต่จะวางบันไดชนชานโล่งหน้าเรือนอย่างเปิดเผย “เสาแหล่งหมา” คือเสาลอยโดด ๆ ต้นเดียว ที่ใช้รับชายคาทางเข้าซึ่งมาจากการที่ชาวเหนือนำหมามาผูกไว้ที่เสานี้นั่นเองชาน
ชานเรือน คือพื้นไม้ระดับต่ำกว่าเติ๋น มักไม่มุงหลังคา เสารับชานเรียก เสาจาน ที่สุดช่านด้านที่มีคันได(บันได) มักจะมีฮ้านน้ำ(ร้านน้ำ)ร้านน้ำ หรือ ฮ้านน้ำ
คือหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่ม พร้อมที่แขวนกระบวยหิ้งน้ำ สูงประมาณ80-100 เซนติเมตร หากหิ้งน้ำอยู่ที่ชานโล่งแจ้งเจ้าของบ้านจะทำหลังคาคลุมลักษณะคล้ายเรือนเล็ก ๆ เพื่อมิให้แสงแดดส่องลงมาที่หม้อน้ำ หม้อน้ำนี้ยิ่งเก่ายิ่งดี เพราะมักจะมีตะใคร่น้ำเกาะ ภายนอกช่วยให้น้ำในหม้อเย็นกว่าเดิม ข้างๆหม้อน้ำจะวางซองน้ำบวย (ที่ใส่น้ำกระบวย) ทำจากไม้ระแนงเป็นรูปสามเหลี่ยมตัว V ใส่กระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวต่อด้ามไม้สัก บางทีสลักเสลาปลายด้ามเป็นรูปสัตว์ต่างๆน่าสนใจ
เติ๋น
ตัวเติ๋นเป็นเนื้อที่กึ่งเปิดโล่ง มีขนาดไม่เล็กกว่าห้องนอนเท่าใดนัก ในกรณีของเรือนชนบทเป็นเนื้อที่ใช้งานได้แบบอเนกประสงค์ ถ้ามีแขกผู้น้อยมาหาเจ้าของบ้านจะนั่งบนเติ๋นแขกนั่งบนชานบันไดหรือเนื้อที่ ที่มีระดับต่ำกว่า ถ้ามีแขกมีศักดิ์สูงกว่า เช่น ผู้ใหญ่ พระสงฆ์ เจ้าของบ้านก็จะนั่งถัดลงมา งานสวดศพก็จะใช้เนื้อที่นี้ประกอบพิธีกรรม ในกรณีที่มีลูกสาว ในเวลาค่ำคืนพวกหนุ่มก็มาแอ่วสาวที่เติ๋นนี้เอง เรือนที่มีห้องนอนเดียวก็จะใช้เติ๋นเป็นที่นอนของลูกชาย ลูกผู้หญิงนอนกับพ่อแม่ ลูกชายประเภทแตกเนื้อหนุ่มออกเที่ยวยามค่ำคืนกลับมาดึกดื่นไม่ต้องปลุกใคร เข้านอนได้เลย
ห้องนอน
นระดับเรือนชนบทห้องนอนจะมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อที่ใช้งานอื่นๆ ฝาด้านทึบจะอยู่ชิดเติ๋น ประตูทางเข้าจะเปิดที่ผนังด้านโถงทางเดินที่ใช้ติดต่อกันทั้งบ้าน ส่วนเรือนไม้และเรือนกาแลที่มีตั้งแต่สองห้องนอนขึ้นไปบางทีรวมเนื้อที่ห้องนอนทั้งหมดแล้ว อาจจะเท่าเติ๋นหรือเล็กกว่าเล็กน้อย ห้องนอนในเรือนกาแลมักจะมีขนาดใหญ่ ฝาล้มออก จะจัดเนื้อที่ห้องนอนออกเป็นสองส่วนซีกหนึ่งใช้เป็นที่นอน อีกซีกใช้วางของ ระหว่างเนื้อที่ทั้งสองซีกมีแผ่นไม้กั้นกลาง (ไม้แป้นต้อง) ไม้ตัวนี้จะตัดความสั่นไหวของพื้นห้องนอนออกจากกันด้วย เมื่อใช้เดินออกจากห้องนอนในยามเช้า ขณะที่ผู้อื่นยังหลับไหลอยู่ ทำให้พื้นที่ส่วนอื่นไม่ไหวไม่เกิดเสียงไม้เบียดตัวกัน
หิ้งผีปู่ย่า(หิ้งบรรพชน)
เป็นหิ้งที่จัดสร้างเหนือหัวนอน ติดฝาด้านตะวันออกตรงมุมห้องอยู่ติดเสา หรือระหว่างเสามงคลและเสาท้ายสุดของเรือน มักทำเป็นหิ้งเล็กๆยื่นจากฝาเข้ามาในห้องมีระดับสูงเท่าๆ หิ้งพระ ผีปู่ย่า หมายถึง วิญญาณของบรรพชนที่สิงสถิตในห้องนอนนี้ และให้การคุ้มครองแก่ทุกคนที่อาศัยในห้องนี้ บนหิ้งมักมีพานหรือถาดใส่ดอกไม้ธูปเทียนจากการเซ่นไหว้เป็นครั้งคราว และมีการเซ่นไหว้เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่นแต่งงาน เจ็บป่วย เป็นต้น
ห้องครัว
ห้องครัวจะอยู่ทางทิศตะวันตกของห้องนอนเสมอ โดยแยกไปอีกหลังหนึ่ง โดยจะวางขนานกับเรือนใหญ่หรือเรือนนอน มีช่องทางเดินแยกเรือนครัวออกจากเรือนนอน เนื้อที่ที่ใช้ตั้งเตาไฟจะยกขึ้นมาเป็นแท่นไม้อัดดินแน่น พวกอุปกรณ์หุงต้มต่างๆ จะจัดอยู่บนแท่นไม้นี้ เป็นการป้องกันอัคคีภัยอย่างหนึ่ง ทำงานแบบนั่งก็สะดวก ภายในเรือนครัวประกอบด้วยส่วนเตาไฟ ทำด้วยกระบะไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อัดด้วยดินให้แน่นและเรียบสูงประมาณ 20 ซม. เป็นที่ฝัง “ก้อนเส้า” มักทำด้วยดินกี่(อิฐ) 3 ก้อน ตั้งเอียงเข้าหากัน เพื่อใช้เป็นเตาไฟ และวางหม้อแกง หรือหม้อนึ่งข้าวได้พอดี อาจจะทำ “ก้อนเส้า” ดังกล่าวนี้ 2 ชุด เพื่อสะดวกแก่การทำครัว ส่วนเหนือของเตาไฟจะมี “ข่า” ทำด้วยไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้เป็นตารางสำหรับย่างพืชผล และเป็นที่รมควันพวกเครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า เพื่อกันตัวมอดและทำให้ทนทานอีกด้วย ตอนบนหลังคาระดับจั่วจะเจาะโปร่งเป็นช่อง เพื่อการระบายควันไฟขณะทำครัว
ที่มา http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=moonfleet&month=04-06-2010&group=104&gblog=191
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น