1/13/2559

ประเภทของเรือนไทย (ภาคเหนือ)

 เรือนไทยภาคเหนือ - เรือนล้านนา


เรือนล้านนาประเภทต่าง ๆ ได้ถูกตั้งขึ้นตามสภาพการใช้งาน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้









1) เรือนเครื่องผูก หรือเรือนไม้บั่ว ซึ่งหมายถึงไม้ไผ่ เรือนประเภทนี้เป็นเรือนขนาดเล็ก ถือว่าเป็นเรือนแบบดั้งเดิม เพราะวิธีการก่อสร้างเป็นวิธีการที่ เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านที่มีรายได้น้อย ยังนิยมปลูกสร้างเรือนเครื่องผูกนี้ทั้งในตัวเมืองและชนบท โดยสามารถหาดูได้ทั่วไปตามชนบทและหมู่บ้านต่าง ๆ เรือนชนิดนี้โครงสร้างส่วนหลังคา ตงพื้นใช้ไม้ไผ่ ส่วนคานและเสานิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาเป็นฝาไม้ ไผ่สาน หลังคามุงแฝกหรือใบตองตึง นิยมใช้ตอกและหวายเป็นตัวยึดส่วนต่าง ๆ ของเรือนเข้าด้วยกันด้วยวิธีผูกมัด





2) เรือนกาแล หรือที่ชาวล้านนาในปัจจุบันเรียกว่า “เฮือนบ่าเก่า”(เฮือนคือเรือน บ่าเก่าคือโบราณ) เป็นเรือนล้านนาที่สร้างขึ้นอย่างมั่นคง และมีส่วน ประกอบประณีตกว่าเรือนแบบแรก นิยมสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีไม้ป้านลมหลังคา ส่วนปลายยอดไขว้กันเรียกว่า "กาแล" ซึ่งมักสลักเสลาสวยงาม


เป็นเรือนพักอาศัยของผู้มีอันจะกิน ผู้นำชุมชนหรือบุคคลชั้นสูงในสังคม ตั้งแต่ระดับชนบทถึงระดับเมือง เรือนประเภทนี้เป็นเรือนที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง หรือไม้จริงทั้งหมด เรียกตามลักษณะของไม้ป้านลม ลักษณะของเรือนกาแลอยู่ที่ยอดจั่วประดับกาแลเป็นไม้สลักอย่างงดงามหลังคาส่วนปลายยอดที่ ไขว้กันนี้ ชาวเหนือเรียกส่วนที่ไขว้ กันนี้ว่า “แล” จึงเป็นที่มาของชื่อเรือน วัสดุที่ใช้ก่อสร้างคุณภาพดี ฝีมือช่างประณีต แต่มีแบบแผนค่อนข้างตายตัว ส่วนใหญ่เป็นเรือนแฝด มีขนาดตั้งแต่หนึ่งห้องนอนขึ้นไป โดยทั่วไปเรือนประเภทนี้จะมีแผนผัง 2 แบบใหญ่ ๆ คือ แบบที่ 1 เอาบันไดขึ้นตรงติดชานนอก โดด ๆ แบบที่ 2 เอาบันไดอิงชิดแนบฝาใต้ชายคาคลุม ทั้งสองแบบนี้จะใช้ร้านน้ำตั้งเป็นหน่วยโดด ๆ มีโครงสร้างของตัวเอง ไม่นิยมตีฝาเพดาน ปัจจุบัน เรือนกาแลดูได้ยาก เพราะมีหลงเหลือให้เห็นเพียงไม่กี่หลัง

อย่างไรก็ตาม เรือนชนิดนี้เป็นเรือนที่แสดงถึงวิวัฒนาการของกระบวนการก่อสร้างบ้านพักอาศัยของชาวล้านนา ที่ถึงจุดสูงสุดก่อนได้รับอิทธิพลจากต่างถิ่น ตลอดจนเป็นเรือนที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวล้านนาอย่างชัดเจน ทั้งการวางผังพื้นที่ การจัดห้องต่าง ๆ ภายในตัวเรือน ตลอดจนรูปทรง ล้วนสะท้อน ถึงแบบแผนการดำเนินชีวิตตามระเบียบประเพณีของล้านนาทั้งสิ้น






3) เรือนไม้จริง เป็นเรือนพื้นเมืองของล้านนาอีกรูปแบบหนึ่งที่วิวัฒนาการไปจากเรือนกาแล รูปแบบหรือลักษณะทางกายภาพของเรือนประเภทนี้ เกิด จากการผสมผสานทางวัฒนธรรมการปลูกสร้างแบบดั้งเดิมกับวัฒนธรรมที่ชาวล้านนาได้รับจากภายนอก ซึ่งช่างล้านนาได้รับระบบวิธีการปลูกสร้างและ รูปแบบของถิ่นภาคกลางตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ มาผสมผสานกันได้ลงตัว เช่นหลังคาจั่วมุงกระเบื้อง

เรือนไม้บางหลังมีการนำเอาระเบียบวิธีการตกแต่งลายฉลุไม้แบบ ขนมปังขิง (gingerbread) มาตกแต่งประดับจั่วหลังคาและเชิงชายตามแบบอิทธิพลช่าง ไทยภาคกลางที่รับมาจากตะวันตกที่แพร่หลายจากปลายรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๖ ชาวล้านนาเรียกเรือนประเภทประดับลายฉลุไม้นี้ว่า “เรือนทรง สะละไน” ซึ่งมักเป็นเรือนของพวกคหบดีคนมีเงิน

เรือนล้านนาประเภทนี้ รูปทรงภายนอกของเรือนจะผันแปรไปตามสมัยนิยม โดยเฉพาะลักษณะฝา ระเบียบการเจาะช่องประตูหน้าต่าง การขึ้นทรง หลังคาที่มีระนาบซับซ้อน เป็นการแสดงถึง อัจฉริยภาพของช่างพื้นเมืองที่รู้จักประสานประโยชน์จากความรู้กับเทคนิควิทยาการช่างที่ได้รับ มาจากต่าง ถิ่นได้อย่างกลมกลืน

     ส่วนเรือนล้านนาที่ผสมผสานกัน ระหว่างรูปแบบเก่ากับรูปแบบใหม่ทันสมัยในปัจจุบัน เรียกว่า "เฮือนสมัยก๋าง" (เรือนสมัยกลาง) คืออยู่ระหว่าง " เฮือนบ่าเก่า" กับเรือนแบบสากลยุคใหม่ที่ชาวบ้านเรียกว่า "เฮือนสมัย" (เรือนสมัยใหม่) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า "เฮือนบ่ใจ้ฮ่างปึ๊นเมือง" (เรือนไม่ใช่ ทรงพื้นเมือง) เฮือนสมัยมักจะมีแบบอิทธิพลตะวันตกเข้ามาประกอบรูปทรง  มีบทบาทในการเปลี่ยนรูปแบบเรือนพักอาศัยให้ทันสมัยมาก


ที่มา   http://www.buphachat.com/article/Lanna-Ancient-House.htm






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น