1/13/2559

เรือนไทย (ภาคอีสาน)

เรือนไทยภาคอีสาน






การสร้างบ้านของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณมักเลือกทำเล ที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มที่มีแม่สำคัญ ๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักข้นต้นด้วยคำว่า "โคก โนน หนอง" เป็นส่วนใหญ่

ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้นมักจะอยู่รวมกัน เป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า

หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า "ออกเฮือน" แล้ว หักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น





    ลักษณะเรือนไทยอีสาน


คำว่า “บ้าน “ กับ “เฮือน” (ความ หมายเช่นเดียวกับ “เรือน”) สำหรับความเข้าใจของ ชาวอีสานแล้วจะต่างกัน คำว่า “บ้าน” มักจะหมายถึง “หมู่บ้าน” มิใช่บ้านเป็นหลัง ๆ เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านนาคำแคน หรือบ้านดงมะไฟ เป็นต้น ส่วนคำว่า “ เฮือน” นั้นชาวอีสานหมายถึงเรือนที่เป็นหลัง ๆ

นอกจากคำว่า “เฮือน “ แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า “โฮง” หมายถึงที่พักอาศัยใหญ่กว่า “เฮือน” มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ

คำว่า “คุ้ม” หมายถึง บริเวณที่มี “เฮือน” รวมกันอยู่หลาย ๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัว เป็นต้น คำว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้

ชาวอีสานมีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและ ตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่า หากสร้างเรือนให้ “ขวางตาเว็น” แล้วจะ “ขะลำ” คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข

บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีการตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อ แคร่ไว้ปั่นด้วย และเลี้ยงลูกหลาน

นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน


ที่มา  http://www.openbase.in.th/node/10814
       http://www.google.co.th/imgres?start=232&hl=th&client=firefox-a&hs=od3&sa=X&rls=org.mozilla:th:official&biw=734&bih=452&tbm=isch&prmd=imvns&tbnid=Mq_EJV2or8QF5M:&imgrefurl=http://www.gotoknow.org/comments/users/surin1%3Fpage%3D8&docid=e7GT8s3HUEF0xM&imgurl=http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/685/044/large_ruanisan15.jpg%253F1296653126&w=640&h=480&ei=p4p-T7-fO4e4iQeWk42hBA&zoom=1&iact=hc&vpx=318&vpy=133&dur=3142&hovh=194&hovw=259&tx=118&ty=119&sig=114599146713435068892&page=22&tbnh=126&tbnw=229&ndsp=10&ved=1t:429,r:5,s:232,i:139

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น